บทความ

21พ.ย.

เพชร Fluorescence คืออะไร ข้อดีข้อเสีย และเคล็ดลับที่ต้องรู้ก่อนซื้อ

บทความ | 551 วิว

เพชร Fluorescence คืออะไร ข้อดีข้อเสีย และเคล็ดลับที่ต้องรู้ก่อนซื้อ

เพชร ถือเป็นสิ่งของที่มีมูลค่าสูง และเป็นของที่มีค่าทางจิตใจ การเลือกซื้อเพชรจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้เพชรที่สวยงามคุ้มราคา และตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยทั่วไปคนเรามักเลือกซื้อเพชรโดยพิจารณาตามหลัก 4Cs อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่นำมาพิจารณาประกอบกัน เพื่อให้ได้เพชรที่มีความสวยงามสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาของเพชรด้วย คือ การเรืองแสงของเพชร หรือเพชรฟลูออเรสเซนต์ AURORA Diamond จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับ เพชร Fluorescence ว่าคืออะไร รวมทั้งวิธีการดูการเรืองแสงของเพชร ระดับความเข้มเท่าใดถึงจะดี และควรเลือกแบบไหนจึงจะคุ้มค่า

เพชร Fluorescence คืออะไร

เพชร Fluorescence คืออะไร

เพชร Fluorescence หรือ เพชรเรืองแสง คือ เพชรที่มีการเรืองแสงเมื่อถูกฉายด้วยแสงอัลตราไวโอเลต (UV) ความยาวคลื่นสูง ซึ่งเกิดจากการที่เพชรมีธาตุโบรอน ไนโตรเจน หรืออะลูมิเนียมผสมอยู่ในระหว่างกระบวนการตกผลึกของเพชร อะตอมของธาตุต่างๆ เหล่านี้จะดูดซับพลังงานจากแสง UV และปลดปล่อยออกมาในรูปของพลังงานแสง จึงทำให้เพชรเกิดการเรืองแสงได้ ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ 

ลักษณะส่วนใหญ่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ เพชรจะเรืองแสงออกมาเป็นสีฟ้าในระดับอ่อนไปถึงเข้มแตกต่างกัน โดยอาจพบเพชรเรืองแสงออกมาเป็นสีเขียว เหลือง น้ำตาล ขาว หรือสีอื่นๆ แต่พบได้ยาก โดยจะมองเห็นการเรืองแสงของเพชรเมื่อมีการตกกระทบระหว่างแหล่งกำเนิดแสงกับเพชรเท่านั้น การเรืองแสงจะหยุดลงเมื่อไม่มีแสง UV มาตกกระทบ ซึ่งเพชรเรืองแสงถือเป็นปรากฎการณ์ที่พบได้น้อยมาก

ระดับความเข้มของเพชร Fluorescence

ระดับความเข้มของเพชร Fluorescence

สถาบันเพชร De Beers Group Institute of Diamonds (DBIOD) ได้มีการแบ่งระดับความเข้มการเรืองแสงของเพชร Fluorescence ออกเป็น 5 ระดับดังนี้

  • Negligible : เพชรไม่มีการเรืองแสงเลย มีลักษณะมืดทึบเมื่อส่องด้วยแสง UV

  • Faint : มีการเรืองแสงเล็กน้อย เห็นเป็นสีฟ้าจางๆ ทำให้เพชรดูขาวขึ้น มีลักษณะไม่แตกต่างจากเพชรแบบ Negligible มากนัก โดยทั่วไปไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงแทบแยกความแตกต่างไม่ออก และเพชรยังคงมีความใส

  • Medium : มีการเรืองแสงปานกลาง เมื่อส่องด้วยรังสี UV จะมองเห็นเป็นสีน้ำเงินกลางๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจเห็นมีฝ้าเล็กน้อย แต่ยังคงมีความใสอยู่

  • Strong : มีการเรืองแสงชัดเจนเห็นเป็นสีน้ำเงินเข้ม เพชรเริ่มเป็นฝ้าที่เข้มขึ้น มองเห็นมีความขุ่มมัวได้ด้วยตาเปล่า

  • Very Strong : มีการเรืองแสงชัดเจน เห็นเป็นสีน้ำเงินเข้มมาก เพชรมีความขุ่นมัวของฝ้าที่ชัดเจนจนอาจทำให้เห็นเพชรเป็นสีเทา

ความเรืองแสงของเพชรที่ส่งผลต่อราคา

ความเรืองแสงของเพชรที่ส่งผลต่อราคา

เพชรฟลูออเรสเซนต์ หรือเพชรเรืองแสงจะส่งผลให้ราคาของเพชรต่ำกว่าเพชรที่ไม่มีการเรืองแสง โดยที่มูลค่าของเพชรจะขึ้นอยู่กับระดับความเข้มของการเรืองแสง ยิ่งมีการเรืองแสงของเพชรมาก มูลค่าของเพชรก็ยิ่งลดลงมาก ดังนี้

  • None : เป็นระดับที่มีมูลค่าสูงที่สุด และเป็นที่ต้องการในท้องตลาดสูง

  • Faint : อาจมีมูลค่าเพชรลดลง 2-5%

  • Medium Blue :  อาจมีมูลค่าเพชรลดลง 5-10% 

  • Strong Blue : อาจมีมูลค่าเพชรลดลง 10-15 %

  • Very Strong : อาจมีมูลค่าเพชรลดลง 15-20%

วิธีสังเกตเพชร Fluorescence

วิธีสังเกตเพชร Fluorescence

การตรวจสอบการเรืองแสงของเพชร Fluorescence สามารถตรวจสอบได้หลายวิธี ทั้งการดูด้วยตาเปล่า การใช้อุปกรณ์ หรือดูจากข้อมูลใบเซอร์เพชรรับรอง โดยสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ ดังนี้

1. สังเกตความหมองของเพชร

การสังเกตความหมองของเพชรทำได้โดยการล้างทำความสะอาด และขจัดคราบมันของเพชรออกให้หมดก่อน เพชรที่ติดฟลูออเรสเซนต์จะมีความขาวออกขุ่น หากนำมาส่องด้วยแสงไฟ เพชรจะไม่เล่นไฟ หรือเล่นไฟได้ไม่ดีเท่าที่ควร ไม่มีการส่องแสงเป็นประกาย แต่จะให้แสงที่มืด หรือออกดำคล้ำ

2. สังเกตเพชรภายใต้ไฟสีขาว

การใช้โคมไฟสีขาวสะอาดส่องเพชร แล้วหมุนเพชรไปมาเพื่อดูการเล่นไฟให้ครบทุกด้าน เพชรที่ติดฟลูออเรสเซนต์แม้ผ่านการเจียระไนมาอย่างดี แต่จะไม่สามารถเล่นไฟได้ดีเท่าที่ควร และจะเห็นการเรืองแสงเป็นสีน้ำเงินอ่อนๆ บนเปลือกหน้าด้านต่างๆ ของเพชร อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีการนี้ต้องทำโดยผู้ที่มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการดูเพชร ต้องมีสายตาที่เฉียบคม และสามารถแยกแยะสีได้เป็นอย่างดี

3. ส่องเพชรด้วยแสง Backlight

วิธีนี้ทำได้โดยใส่เพชรในกล่องสีดำปิดสนิท ไม่ให้มีแสงอื่นรบกวน แล้วใช้แสง Blacklight ชนิดเดียวกับที่ธนาคารใช้ส่องธนบัตรส่องไปที่เม็ดเพชร โดยเพชร Fluorescence ที่ติดฟลูมากเท่าไร ก็จะยิ่งเรืองแสงจากเพชรออกมาเป็นสีน้ำเงินให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น หากเป็นเพชรที่ไม่ติดฟลูออเรสเซนต์จะไม่มีการเรืองแสงใดๆ ออกมา ตัวเพชรจะมืดลง วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย และเหมาะสำหรับมือใหม่

4. ดูข้อมูลจากใบเซอร์เพชร

ใบเซอร์เพชร ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องมือใช้บ่งบอกถึงคุณภาพของเพชรแต่ละเม็ดจากการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณีจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ เมื่อทำการซื้อขายก็จะทำได้ง่ายกว่าเพชรที่ไม่มีใบเซอร์รับรอง โดยใบเซอร์เพชรจะระบุรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวเพชรนั้นๆ ดังนั้น เมื่อทำการซื้อขายเพชร วิธีการดูว่าเพชรนั้นเป็นเพชร Fluorescence หรือไม่ ซึ่งการดูใบเซอร์เพชรเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สะดวก แม่นยำ และมีความน่าเชื่อถือที่สุด

  • เพชรใบเซอร์ GIA ที่ไม่ติดฟลู จะระบุว่า Fluorescence: None

  • เพชรใบเซอร์ HRD ที่ไม่ติดฟลู จะระบุว่า Fluorescence: Nil

หากทำใบเซอร์หาย เพชรที่มีใบเซอร์ทุกเม็ดจะมี Serial Number ที่สามารถนำไปตรวจสอบฐานข้อมูลเพชรแบบออนไลน์ได้ตามช่องทาง ดังนี้

ข้อดี-ข้อเสียของเพชร Fluorescence

ข้อดี-ข้อเสียของเพชร Fluorescence

หากต้องการซื้อเพชร Fluorescence ก็มีข้อดีและข้อเสียที่ควรนำไปพิจารณาดังต่อไปนี้

ข้อดีของเพชร Fluorescence

  • เพชรเรืองแสงมีมูลค่าต่ำกว่าเพชรไม่เรืองแสง จึงเหมาะสำหรับคนที่มีงบประมาณไม่มากนัก ทำให้สามารถซื้อเพชรกะรัตเท่ากันกับเพชรไม่เรืองแสงในราคาที่ถูกกว่า

  • การเรืองแสงช่วยให้เพชรน้ำรองที่มีสีนวล หรือเริ่มออกเหลืองจางๆ  คือเพชรเกรด I, J, K, L, และ M อาจดูขาวสว่างกว่าความเป็นจริงประมาณ 1-2 ระดับ โดยเฉพาะเพชรขนาดเล็กที่มีการเรืองแสงอยู่ในระดับ Medium หรือ Strong จึงทำให้เพชรน้ำรองดูขาวใสขึ้นเหมือนกับเพชรน้ำงามได้ 

  • ราคาจับต้องได้ง่าย และยังคงมีความสวยงามอยู่

ข้อเสียของเพชร Fluorescence

  • เพชร Fluorescence ที่มีระดับการเรืองแสงสูงมากๆ เช่น ระดับ Very Strong จะทำให้เพชรเห็นติดสีฟ้าชัดจนทำให้สีเพชรที่แท้จริงผิดเพี้ยน

  • หากเกิดการเรืองแสงในเพชรกลุ่มที่มี Color Grade สูง หรือเกรดไร้สีในแต่ระดับ D, E, F, G, และ H อาจทำให้เพชรดูหมอง และลดความสามารถในการสะท้อนแสงของเพชร 

  • ผิวหน้าของเพชรดูมีความมัน ไม่ใสเป็นประกายสวยงามเท่าที่ควร ลดความดึงดูดสายตา โดยจะเห็นได้ชัดในเพชรเม็ดใหญ่ ทำให้เพชรประเภทนี้มีมูลค่าที่ลดลงอย่างมาก

  • เพชรเรืองแสงนำไปขายต่อ หรือเก็งกำไรทำได้ยากกว่าเพชรไม่เรืองแสง และไม่เป็นที่นิยมในท้องตลาด

  • ส่งผลต่อความรู้สึก หรือบางคนมีความรู้สึกไม่ชอบเพชรที่ติดสีฟ้า รู้สึกไม่พึงพอใจเมื่อเพชรเปล่งประกายสีฟ้าเมื่ออยู่ภายใต้แสง Blacklight ในงานสังสรรค์ ผับ หรือบาร์ จึงไม่นิยมนำเพชร Fluorescence มาสวมใส่ และบางคนมีความเชื่อที่ว่าเพชรเรืองแสงเป็นเพชรที่มีคุณภาพไม่ดี

เพชร Fluorescence ควรซื้อหรือไม่

เพชร Fluorescence ควรซื้อหรือไม่

การที่เพชรติด Fluorescence ไม่ได้มีผลต่อความแข็งแรง ความทนทาน น้ำหนัก หรือความสวยงามของเพชรมากนัก มีเพียง 10% จากเพชร Fluorescence ที่พบทั้งหมดเท่านั้นที่มีความขุ่นมัว มีผลต่อความสวยงาม และรูปลักษณ์ การแยกแยะว่าเป็นเพชรฟลูออเรสเซนต์หรือไม่ แทบจะมองไม่ออกด้วยตาเปล่า แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการดูเพชรที่สูงมากเท่านั้น 

นอกจากนี้ เพชรที่ติดฟลูออเรสเซนต์ หรือเพชรเรืองแสง อาจมีส่วนช่วยให้เพชรน้ำรองที่ออกสีเหลืองดูขาวใสขึ้น มองดูเหมือนเพชรน้ำดี แต่สามารถจับต้องได้ในราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็ตาม การเรืองแสงของเพชรเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบเท่านั้น เพราะการเลือกซื้อเพชรควรพิจารณาถึงปัจจัย 4Cs และพิจารณาเหตุผลทางด้านรสนิยม และมูลค่าของเพชรเป็นหลัก การเลือกซื้อเพชรเกรดสูงๆ ที่เล่นไฟเปล่งประกาย สวยงามเป็นธรรมชาติ มีมูลค่า และเป็นที่ต้องการของตลาด ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพชรฟลูออเรสเซนต์

สรุป

วิธีการสังเกตเพชร Fluorescence  หรือ เพชรเรืองแสง มีวิธีการสังเกตได้อยู่หลายวิธี ทั้งการสังเกตด้วยตาเปล่า การใช้อุปกรณ์ รวมถึงการดูรายละเอียดจากใบเซอร์เพชรรับรอง ถึงแม้ว่าการเรืองแสงของเพชรจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาเลือกซื้อเพชร แต่ก็เป็นปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย เพราะการเลือกซื้อเพชรเรืองแสงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ความสบายใจ และงบประมาณของแต่ละคน 

หากใครที่ต้องการซื้อขายเพชรเพื่อลงทุน หรือซื้อเก็บไว้เป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลาน การเลือกซื้อเพชรไม่ติดฟลูออเรสเซนต์ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากราคาไม่ตก ขายต่อได้ง่าย และเป็นที่นิยมในตลาดมากกกว่า และเพื่อความมั่นใจว่าจะได้เพชรที่มีคุณภาพตามราคาที่จ่ายไป ควรเลือกซื้อเพชรที่มีใบรับรองจากสถาบันอัญมณีที่ได้รับการยอมรับจะดีที่สุด หากใครที่กำลังอยากได้เพชรน้ำดี Aurora DIamond มีเพชรแท้ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันชั้นนำ De Beers ไม่มีแสงฟลูออเรสเซนต์ พร้อมทั้งรับประกันการตรวจสภาพเพชร รวมไปถึงบริการทำความสะอาดเพชรตลอดอายุใช้งาน

tags

Facebook Messenger
Line