บทความ

18พ.ค.

4C เพชรคืออะไร? และมีอะไรบ้าง? ตัวช่วยสำคัญในการเลือกซื้อเพชรน้ำดี

บทความ | 2073 วิว

4C เพชรคืออะไร? และมีอะไรบ้าง? ตัวช่วยสำคัญในการเลือกซื้อเพชรน้ำดี

4C เพชร คืออะไร? และมีอะไรบ้าง? ตัวช่วยสำคัญในการเลือกซื้อเพชรน้ำดี

เพชรเป็นอัญมณีที่มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหวน, จี้, ต่างหู, สร้อยข้อมือ ฯลฯ โดยเฉพาะเป็นเครื่องประดับสำหรับสวมใส่ในงานสำคัญ เช่น งานแต่งงาน ซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมทั่วโลก เนื่องจากเป็นอัญมณีที่มีทั้งความสวยงามเป็นประกาย และยังมีความแข็งแรง ทำให้เพชรเป็นอัญมณีที่มีมูลค่าสูงและมีคุณค่าทางจิตใจต่อทุกฝ่าย สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเพชร ควรมาทำความรู้จักกับ 4C เพชร บอกได้เลยว่าเป็นตัวช่วยสำคัญในการพิจารณาเลือกดูหรือเลือกซื้อเพชรให้ได้เพชรน้ำดีสวยงามสมราคา หากอยากรู้แล้วว่า 4C เพชรคืออะไร และ 4C เพชรมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

เพชร 4c คือ

เพชร 4C คืออะไร?

4C เพชร คือ เป็นหลักการในการประเมินคุณภาพหรือคุณลักษณะของเพชร ซึ่งเป็นหลักสากลที่ถูกกำหนดขึ้นโดยสถาบัน GIA (Gemological Institute of America) ซึ่งเป็นสถาบันด้านอัญมณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่น่าเชื่อถือและได้รับยอมรับมากที่สุดทั่วโลก หลัก 4C เพชรจึงเป็นหลักมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ในการให้คะแนนเพื่อใช้สำหรับบอกระดับคุณภาพ เกรด หรือ value ของเพชรนั้นๆ โดยมักถูกนำมาใช้เป็นหลักที่ช่วยในการเลือกซื้อเพชร

เพชร 4c

เพชร 4C มีความสำคัญต่อการเลือกซื้อเพชรอย่างไร?

4C ของเพชรนั้นเป็นหลักมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับใช้ประกอบการพิจารณาเลือกซื้อเพชร ให้ได้เพชรที่ตรงกับความต้องการ แน่นอนว่าหากเพชรนั้นยิ่งมีคุณภาพในด้านต่างๆ ของแต่ละ C ดีมากเท่าไรก็จะส่งผลให้เพชรนั้นๆ มีมูลค่าที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเพชร 4C จึงมีความสำคัญต่อการเลือกซื้อเพชรของแต่ละคน เพราะหากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเลือกเพชร 4C ก็จะทำให้ผู้ที่กำลังสนใจและต้องการที่จะซื้อเพชร สามารถมีตัววัดที่จะมาช่วยตัดสินใจการดูอย่างไรให้ได้เพชร 4C ที่มีความสวยงาม มีคุณภาพเหมาะสมกับมูลค่าราคาที่ซื้อนั่นเอง

4c เพชร มีอะไรบ้าง

4C’s ของเพชรมีอะไรบ้าง?

หลัก 4C ของเพชรนั้นประกอบไปด้วยตัว C ทั้งหมด 4 ตัวซึ่งแต่ละตัว หมายถึงคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของเพชร 4 อย่างที่นำมาใช้ในการประเมินคุณภาพของเพชร โดย 4C จะประกอบไปด้วย

  • Carat – กะรัต หรือ น้ำหนักของเพชร
  • Color – สีของเพชร
  • Clarity – ความสะอาดของเพชร
  • Cut – การเจียระไนเพชร

หากอยากรู้แล้วว่า 4C ทั้ง 4 ตัวนั้นแต่ละตัวคืออะไร และจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างไปดูกันเลย

Carat (กะรัต)

Carat กะรัต หรือ น้ำหนักของเพชรเป็นหน่วยวัดอย่างหนึ่ง ที่ใช้ในการชั่งน้ำหนักของเพชร โดยเพชร 1 กะรัต จะมีน้ำหนักเท่ากับ 0.2 กรัม หรือ 200 มิลลิกรัม โดยสำหรับเพชรที่มีน้ำหนักไม่ถึง 1 กะรัต จะมีหน่วยเรียกย่อยเป็น หน่วย point หรือที่คนไทยหลายๆ คนนิยมใช้เรียกกันคือหน่วย ตัง

โดยเพชร 1 กะรัตจะเท่ากับ 100 ตัง เช่น เพชร 30 ตัง ก็คือเพชร 0.30 กะรัตนั่นเอง กะรัตของเพชรจะได้จากการใช้เครื่องมือชั่งที่มีความละเอียดและความเที่ยงตรงสูงสำหรับชั่งน้ำหนักของเพชร ทำให้กะรัตเป็นหน่วยวัดที่สามารถระบุออกมาเป็นตัวเลขได้ชัดเจน

โดยทั่วไปพบว่าราคามีความสัมพันธ์กับกะรัตหรือน้ำหนักของเพชรในทิศทางเดียวกัน คือเพชรที่มีน้ำหนักมากกว่าก็จะมีราคาที่สูงกว่า แต่ว่าราคาของเพชรจะไม่ได้เพิ่มขึ้นตามน้ำหนักเพชรในอัตราส่วนที่คงที่โดยจะเพิ่มขึ้นแบบอัตราก้าวกระโดด เนื่องจากราคาของเพชรที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มขึ้นตามความหายากของเพชร ยิ่งเป็นเพชรเม็ดใหญ่ก็จะยิ่งหาได้ยากมากขึ้น ทำให้ราคาของเพชรสูงตาม หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็ขอยกตัวอย่างเช่น การที่ราคาของเพชรน้ำหนัก 2 กะรัต จะมากกว่า 2 เท่าของราคาของเพชรน้ำหนัก 1 กะรัต

Color (สี)

Color หรือ สีของเพชร ส่วนใหญ่ที่พบกันมักจะเป็นเพชรที่เป็นสีใส ไม่มีสี แต่ความจริงแล้วยังมีเพชรสีอื่นๆ อีกหลายสีเพียงแต่อาจจะมีอยู่น้อยและหาได้ยากกว่าเพชรสีใส จึงไม่ค่อยได้เห็นเพชรสีอื่นกันเท่าไรนัก โดยสามารถแบ่งสีของเพชรออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน

  • กลุ่มแรกคือกลุ่มเพชรที่มีสีใส ไม่มีสี (Colorless) ไปจนถึงสีเหลืองอ่อนๆ ซึ่งในการประเมินคุณภาพสีของเพชรจะมีการระบุเป็นเกรดสีของเพชรเริ่มจากตัวอักษร “D” ไล่ตามลำดับ “E, F, G, H, … “ ไปเรื่อยๆจนถึง “Z” โดย D color จะเป็นเพชรที่เกรดดีที่สุดคือจะมีสีใสมากที่สุดไล่ไปจนถึง Z color ซึ่งจะมีสีมองเห็นออกเป็นสีเหลืองอ่อนๆ คนไทยมักนิยมเรียกสีของเพชรเป็น “น้ำ” อย่างที่มักมีคำพูดติดปากกันว่าเพชรน้ำดี โดยเพชรที่น้ำดีที่สุดจะเป็นระดับ น้ำ 100% ซึ่งจะตรงกับกับเกรด D color และไล่ระดับลงไปเป็น น้ำ 99% ซึ่งจะตรงกับกับเกรด E color, … ไล่ลงไปเรื่อยๆ นั่นเอง โดยเพชรในกลุ่มสีใสนี้ จะถูกแบ่งระดับเกรดออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้แก่
    • Colorless - D E F
    • Near Colorless - G H I J K L M
    • Very Faint Yellow - N O P Q R
    • Faint Yellow - S T U V W X Y Z

ในการระบุเกรดของสีเพชรอาจจะเป็นการยากสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะระดับสีในกลุ่ม Colorless และ Near Colorless จึงต้องใช้การประเมินจากผู้เชี่ยวชาญภายใต้การควบคุมแสงไฟที่เหมาะสม โดยเปรียบเทียบกับเพชรต้นแบบ ที่เรียกว่า Masterstone Set ซึ่งมีการกำหนดค่าสีแต่ละเกรดไว้ใช้สำหรับเทียบให้ได้เกรดสีที่มีความถูกต้องแม่นยำ

  • กลุ่มที่สองคือเพชรที่จัดเป็นกลุ่มเพชรสีแฟนซี (Fancy Diamond) ก็คือเพชรสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีใสนั่นเอง โดยสีของเพชรในกลุ่มนี้ก็จะมีสีต่างๆ หลากหลายสี ไม่ว่าจะเป็น สีเหลืองเข้ม (ที่เข้มเกินกว่าเกรด Z color ของในกลุ่มแรก) ส้ม น้ำตาล แดง ชมพู เขียว ฟ้า หรือน้ำเงิน ซึ่งเพชรในกลุ่มสีแฟนซีที่มีความสวยงามนั้นจะหาได้ยากกว่าเพชรสีใส

Clarity (ความสะอาด)

  • Clarity หรือ ความสะอาดของเพชร เป็นการประเมินจากปริมาณมลทินหรือตำหนิของเพชรซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยมลทินหรือตำหนิของเพชรจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
    • มลทินที่อยู่ด้านในเพชร เรียกว่า “Inclusions”
    • มลทินที่อยู่ด้านนอกเพชร เรียกว่า “Blemish”

ความสะอาดของเพชรก็ยังคงมีผลต่อราคาของเพชร หากเพชรเม็ดใดมีตำหนิขนาดเล็กหรือมีมลทินน้อยก็จะยิ่งทำให้เพชรเม็ดนั้นมีราคาที่สูงขึ้นตามระดับความสะอาดของเพชรที่มากขึ้น

  • โดยตามหลักการ 4C ของเพชรนั้นจะแบ่งเกรดความสะอาดของเพชรออกเป็น 6 ประเภท และแบ่งย่อยออกเป็น 11 ระดับ ซึ่งเรียงลำดับจากมากที่สุดไปน้อยที่สุดได้ดังนี้
    • Flawless: FL – เป็นระดับความสะอาดของเพชรที่มีความสะอาดสูงสุด คือไม่มีตำหนิหรือมลทินเลยทั้งประเภทภายใน (Inclusions) และภายนอก (Blemish) จึงเป็นเพชรที่หาได้ยากมากๆ และมีราคาสูงมากเช่นกัน
    • Internally Flawless: IF – ไม่มีมลทินภายในเพชร (Inclusions) แต่อาจมีตำหนิบริเวณผิวภายนอก (Blemish) ที่มองเห็นได้ยากแม้จะใช้กล้องส่องดู
    • Very Very Slightly Included: VVS (แบ่งเป็น VVS1 และ VVS2) – มีตำหนิที่น้อยมาก มองเห็นได้ยากแม้จะใช้กล้องที่มีกำลังขยาย 10 เท่า โดยเพชรที่มีตำหนิระดับ VVS1 อยู่หลายๆ จุดรวมกันจะถูกประเมินเป็น VSS2
    • Very Slightly Included: VS (แบ่งเป็น VS1 และ VS2) – มีตำหนิที่เล็กน้อยที่สามารถมองเห็นได้ผ่านการใช้กล้องที่มีกำลังขยาย 10 เท่าส่องดู ถือเป็นเพชรที่เป็นเกรดที่ราคาคุ้มค่าและคนส่วนใหญ่นิยมซื้อ เพราะยังไม่มีผลต่อความสวยงามและประกายของเพชรเท่าไร แต่ราคาค่อนข้างถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับระดับ VVS, IF และ FL
    • Slightly Included: SI (แบ่งเป็น SI1 และ SI2) – มีตำหนิหรือมลทินที่สามารถมองเห็นได้ง่ายโดยใช้กล้องที่มีกำลังขยาย 10 เท่า แต่สำหรับเพชรที่มีขนาดใหญ่อาจจะสามารถมองเห็นตำหนิได้ด้วยตาเปล่า
    • Included: I (แบ่งเป็น I1, I2 และ I3) – เป็นเพชรที่มีรอยตำหนิหรือมลทินที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแม้เพชรจะมีขนาดเล็กก็ตาม มักเป็นเพชรที่มีตำหนิขนาดใหญ่ทำให้มีผลต่อความสวยงามของเพชร รวมถึงประกายของเพชรเวลาที่กระทบแสง

Cut (การเจียระไน)

Cut หรือ การเจียระไนเหลี่ยมเพชรซึ่งมีความสำคัญต่อความสวยงามของเพชรอย่างมาก เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อลักษณะของเพชรเกี่ยวกับการสะท้อนแสงได้แก่ ประกาย (Brilliancy), ไฟหรือการกระเจิงของแสง (Fire) และความแวววาว (Scintillation) ซึ่งการเจียระไนเพชรนั้นถือเป็นสิ่งที่วิเคราะห์และประเมินได้ยากมากที่สุดในหลัก 4Cเพชร โดยแบ่งประเภทการเจียระไนออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • เพชรกลม (Round Brilliant Cut) ที่เป็นรูปแบบที่นิยมโดยทั่วไป
  • เพชรแฟนซี (Fancy Cut) ก็คือเพชรทรงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพชรกลม เช่น เพชรทรงสี่เหลี่ยม, เพชรทรงหัวใจ, เพชรทรงหยดน้ำ ฯลฯ

การเจียระไนของเพชรสามารถแบ่งเกรดออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ Excellent, Very Good, Good, Fair และ Poor โดยเพชรที่มีระดับการเจียระไนที่ดีที่สุดจะถูกเรียกว่าเป็น Triple Excellent Cut (3Ex) คือมีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม (Excellent) ทั้ง 3 ด้าน

3 คุณสมบัติหลักที่นำมาใช้ในการประเมินเกรดของการเจียระไนเพชร ได้แก่

  • สัดส่วนของเพชร (Cut Grade) – โดยจะต้องพิจารณาสัดส่วนของส่วนประกอบต่างๆ ของเพชรหลายส่วนประกอบกัน คือ
    • Table – ส่วนหน้าเพชร
    • Crown – ส่วนครึ่งบนของเพชร ประกอบด้วย Crown Angle และ Crown Height
    • Pavilion – ส่วนครึ่งล่างของเพชร ประกอบด้วย Pavilion Angle ซึ่งหากมีความชันมากจะทำให้เพชรดูมืดเพราะสะท้อนแสงได้ไม่ดีพอ และ Pavilion Depth Percentage ซึ่งหากตื้นหรือลึกจนเกินไปจะทำให้แสงทะลุออกไปด้านล่างเพชร ไม่สะท้อนกลับมา Girdle - ส่วนขอบเพชร หากหนาเกินไปจะทำให้เกิดภาพสะท้อนสีเทาในเพชร โดยเพชรที่มี Crown และ Pavilion ตื้นมักเป็นเพชรที่จะมี Table ขนาดใหญ่ และขอบ Girdle บาง ซึ่งจะส่งผลต่อความสวยงามและความทนทานของเพชร ทำให้เกิดการบิ่นได้ง่าย
    • Cutlet – ส่วนก้นเพชร
  • การขัดเงา (Polish Grade) – การเจียระไนที่ดีคือต้องทำให้เพชรมีความเรียบเนียน สม่ำเสมอ ไม่มีรอยขรุขระ ทำให้แสงตกกระทบได้ดี
  • ความสมมาตร (Symmetry) – เพชรที่ได้รับการเจียระไนที่ดีคือ เพชรที่มีเหลี่ยมเพชร (Facets) แต่ละเหลี่ยมสมมาตรกันทั้งซ้ายและขวา ทุกๆ เหลี่ยมมีขนาดที่เท่าเทียมกัน มุมต่างๆ มีความสมมาตรทำให้แสงสามารถตกกระทบได้ดี ส่งผลให้เพชรสามารถสะท้อนแสงมีประกายที่สวยงาม

เพชร 5C

ทำความรู้จักกับเพชร 5C’s อีกหนึ่ง C การันตีเพชรดีจาก Aurora Diamond

การเลือกเพชรที่ดี คุณภาพเหมาะสมกับราคา จะต้องมีมาตรฐานรองรับ ยิ่งถ้าหากเป็นเพชรใบเซอร์ เรายิ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากดูเรื่องราคา ยังต้องมีความเข้าใจถึงเรื่อง 4Cs สำหรับเพชรของ Aurora Diamond นั้นมีความพิเศษตรงที่มีเพชรที่ได้รับการรับรองตามหลัก 5C ซึ่งเป็นหลักมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน De Beers ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกจากประเทศอังกฤษ โดยมีจุดเด่นที่แตกต่างจากใบเซอร์รับรองเพชรจากสถาบันอื่นๆ โดยทั่วไป คือมีการใช้มาตรฐาน 5C’s ในการรับรองคุณภาพของเพชรโดยมี C ตัวที่ 5 ที่เพิ่มขึ้นมาจากหลัก 4C นั่นก็คือ Confidence เนื่องจาก De Beers เป็นสถาบันที่จะออกใบรับรองให้กับเพชรแท้เท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่าเพชรทุกเม็ดที่ได้รับการรับรองจะเป็นเพชรแท้ที่มาจากธรรมชาติ 100% ไม่ใช่เพชรที่มาจากการสังเคราะห์อย่างแน่นอน

 

เพชร 4C คือ หลักการที่ได้รับการยอมรับให้เป็นมาตรฐานในการใช้ประเมินคุณลักษณะของเพชร ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยสถาบัน GIA โดย 4C นั้นประกอบไปด้วย Carat (กะรัตหรือน้ำหนักของเพชร), Color (สีของเพชร), Clarity (ความสะอาดของเพชร) และ Cut (การเจียระไนเพชร) ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่นำมาใช้ช่วยในการพิจารณาเลือกซื้อเพชรตาม 4C เนื่องจากมีผลต่อความสวยงามและมูลค่าของเพชร หากใครที่อยากได้เพชรดีๆ สามารถแวะมาได้ที่ Aurora ที่มีเพชร 5C’s ให้ทุกคนได้ชมและเลือกซื้อ พร้อมใบเซอร์รับรองจากสถาบันชั้นนำที่มั่นใจได้ว่าคุณจะได้แต่เพชรดีมีคุณภาพกลับไปแน่นอน

tags

Facebook Messenger
Line