บทความ

27ต.ค.

เรื่องน่ารู้การเจียระไนเพชร รูปทรงที่นิยม การเจียระไนที่ดีควรเป็นอย่างไร

บทความ | 1656 วิว

เรื่องน่ารู้การเจียระไนเพชร รูปทรงที่นิยม การเจียระไนที่ดีควรเป็นอย่างไร

เรื่องน่ารู้การเจียระไนเพชร รูปทรงที่นิยม การเจียระไนที่ดีควรเป็นอย่างไร

เพชรเป็นอัญมณีสุดล้ำที่มีคุณค่าด้านความสวยงาม และนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับต่างๆ แต่กว่าจะมาเป็นเพชรที่มีรูปทรงสวยงามได้นั้นมีที่มาอย่างไร ซึ่งตามหลัก 4Cs จะมีการ Cut หรือที่เรียกว่า “การเจียระไนเพชร” ก่อนเสมอ แล้วเพชรก่อนเจียระไนที่อยู่ในโรงงานเจียระไนเพชรจะมีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้เพชรเกิดเป็นรูปทรงสวยงาม และเป็นที่นิยม หลักการเจียระไนเพชรให้มีลักษณะที่ดีควรเป็นอย่างไร แบบใดถึงเรียกเป็น 3EX มาดูในบทความนี้ไปพร้อมๆ กัน

การเจียระไนเพชร คืออะไร

การเจียระไนเพชร คืออะไร

การเจียระไนเพชร เป็นการทำให้เพชรที่มีลักษณะหยาบ หรือไม่สวยงาม ให้กลายเป็นรูปทรงเพชรที่มีความสวยงามหลากหลาย จนเพชรมีเอกลักษณ์ มีเหลี่ยมมุม และลวดลายที่กระทบกับแสงไฟ หรือแสงอาทิตย์ จนเกิดความแวววาว และเปล่งประกายออกมาอย่างโดดเด่น

 

สำหรับรูปแบบการเจียระไนเพชรแบบมาตรฐานตามสมัยใหม่ เป็นการเจียระไนเพชรให้มีรูปแบบทรงกลม และมีเหลี่ยมมากถึง 57-58 เหลี่ยม ซึ่งเหลี่ยมมุมที่ซับซ้อนกัน จะช่วยทำให้เห็นถึงความแวววาวระยิบระยับของเพชรมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน รูปแบบการเจียระไนเพชรแบบ Brilliant Cut ถือเป็นรูปแบบการเจียระไนเพชรที่มีความนิยม และยอมรับกันโดยทั่วไปมากที่สุด 

ขั้นตอนในการเจียระไนเพชร

ขั้นตอนในการเจียระไนเพชร

การเจียระไนเพชรขึ้นมาหนึ่งเม็ด โดยทั่วไปแล้วรูปแบบการเจียระไนเพชรที่นิยมมากที่สุดสำหรับตลาดการค้าสากล คือ รูปแบบ Brilliant Cut ซึ่งสามารถแบ่งขั้นตอนออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. การเตรียมวัตถุดิบ และประเมินคุณภาพเพชร

ขั้นตอนแรกในการเจียระไนเพชร คือ การเตรียมเพชรดิบที่มีรูปทรง Octahedron ซึ่งเป็นรูปทรงเพชรก่อนเจียระไนที่พบได้ทั่วไป โดยนำมาคัดแยกขนาด น้ำหนัก (กะรัต) สี และคุณภาพของเพชรก่อนนำไปทำการเจียระไน

2. การตัดเพชร

เพชรเป็นวัตถุที่มีความแข็งแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง การตัดเพชรออกเป็น 2 ส่วน เพื่อความง่ายต่อการเจียระไนเพชร ต้องใช้วิธีเพชรตัดเพชร ซึ่งขั้นตอนแรกต้องใส่ผงเพชรไปที่ใบเลื่อยแล้วตามด้วยน้ำมันลินสีด (Linseed Oil) อีกชั้น เมื่อเลื่อยไปจนใบเลื่อยตัดเข้าไปในเนื้อเพชร ผงเพชรจากการที่เพชรถูกตัดจะไปติดอยู่กับน้ำมันลินสีด ทำให้ปริมาณผงเพชรมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำเช่นนี้ไปจนกระทั่ง เพชรนั้นถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน

3. การเกลาเพื่อสร้างรูปทรงเพชร

ขั้นตอนนี้เป็นการขึ้นรูปทรงของเพชรให้ได้เป็นรูปร่างคร่าวๆ ตามการออกแบบที่ได้วางเอาไว้ โดยการใช้เครื่องกลึง เพื่อตัดเอาส่วนที่แหลมของเพชรออกไปให้ได้เพชรที่มีความกลมมนเป็นไปตามแบบ ก่อนนำไปสู่การเจียระไนเพชรในที่สุด นอกจากนี้ การเกลาเพชรทรงกลมยังใช้เวลามากกว่าเกลาเพชรรูปทรงอื่นๆ  เพราะการเกลาเพชรทรงกลมต้องใช้เวลาเกลาให้กลมมน และได้สัดส่วนที่สมมาตรมากที่สุด

4. การเจียระไนเพชร

สำหรับขั้นตอนสุดท้าย คือ ขั้นตอนการเจียระไนเพชร หรือเป็นการขึ้นเหลี่ยมให้กับเพชร ซึ่งจะใช้เครื่องมือเช่นเดียวกับขั้นตอนในการตัดเพชร แต่จะมีอุปกรณ์เสริมเพิ่มเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเจียระไนเพชรให้ได้เหลี่ยมมุมให้มีความสมมาตรอย่างแม่นยำ ซึ่งวิธีเจียระไนเพชรในแบบ Brilliant Cut ในขั้นตอนแรก จะเริ่มจากการเจียระไนที่ด้านบนสุดให้เรียบ เรียกว่า Table หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มเจียระไน ส่วนก้นเพชร เรียกว่า Pavillion แล้วจึงค่อยกลับมาเจียระไนส่วนบน เรียกว่า Crown อีกครั้ง ในการเจียระไนส่วนบนอีกครั้งนี้จะทำให้เหลี่ยมมุมที่ด้านก้นของเพชรเพิ่มขึ้น และจุดสุดท้ายที่เกิดขึ้นในการเจียระไนเพชร คือ บริเวณหน้าตัดเล็กๆ ใกล้กับยอดแหลมตรงก้นเพชร เรียกว่า Culet ทั้งนี้ การเจียระไนเพชรที่สมบูรณ์ที่สุดในแบบของ Brilliant Cut ต้องนับหน้าตัดได้ทั้งหมด 57-58 หน้า โดยนับรวม Table และ Culet ด้วย

รูปแบบการเจียระไนเพชรที่นิยม

รูปแบบการเจียระไนเพชรที่นิยม

การเจียระไนเพชรมีกี่แบบ และมีความแตกต่างกันอย่างไร ชวนไปดูรูปแบบการเจียระไนเพชรรูปแบบต่างๆ ทั้งที่นิยมในปัจจุบัน และรูปแบบที่หาชมได้ยาก โดยจะมีแบบไหนบ้างไปดูกัน

  • Brilliant Cut รูปเหลี่ยมเกสรทรงมาตรฐาน มีเหลี่ยม 57-58 เหลี่ยม มีลักษณะเหลี่ยมมุมที่ซับซ้อน เผยให้เห็นถึงความประกายของเพชรที่ระยิบระยับอย่างโดดเด่นเมื่อกระทบกับแสงไฟ รูปแบบการเจียระไนเพชรแบบนี้ ถือเป็นที่นิยมกันมากที่สุดในปัจจุบัน

  • Briolette Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงหยดน้ำ หรือทรงคล้ายลูกแพร์ มีเหลี่ยมถึง 84 เหลี่ยม เป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 17-18 และในปัจจุบันมักนำมาใช้ในเครื่องประดับสไตล์วินเทจ

  • Bullet Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงหัวกระสุน มีการขัดให้เพชรมีปลายมน เพื่อให้คุณภาพของสีบนเนื้อผิวมีความสม่ำเสมอ ซึ่งรูปแบบการเจียระไนให้มีเหลี่ยมมุมต่างๆ มักขึ้นอยู่กับชนิดของเพชรด้วย

  • Cabochon Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงหลังเบี้ย เป็นการนำเพชรมาเจียระไนแบบหลังเต่า ทรงโดม โค้งเรียบ ฐานแบน และไม่มีเหลี่ยมมุม มักทำให้มีขนาดพอดีสำหรับฝังลงไปบนตัวเรือนของเครื่องประดับ

  • Checkerboard Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงเหลี่ยมกระดานหมากรุก นิยมใช้ในการเจียระไนกับเพชรที่มีขนาดใหญ่ รูปทรงแบบ Cushion และเพชรที่มีความโปร่งแสง เพื่อเผยให้เห็นถึงความซับซ้อนของการเจียระไน

  • Eight Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงเหลี่ยมเกสร เป็นการเจียระไนกับเพชรที่มีขนาดเล็ก เมื่อมองจากด้านบนของเพชรจะเห็นมุมเแค่ 8 เหลี่ยมเท่านั้น

  • Old European Cut การเจียระไนเพชรรูปเหลี่ยมโบราณแบบยุโรปก้นตัด มีเหลี่ยม 58 เหลี่ยม เป็นการเจียระไนแบบโบราณ ทำให้มี Table ที่เล็กและสูง

  • Old Mine Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงเหลี่ยมเพชรแบบโบราณ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลดมุม มีมุมโค้งมนเบาๆ มีทั้งหมด 64 เหลี่ยม เป็นการเจียระไนให้ใกล้เคียงกับผลึกเพชรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อสร้างภาพลักษณ์แบบสไตล์วินเทจ

  • Old Single Cut เป็นการเจียระไนแบบโบราณ โดยรูปแบบการเจียระไนนี้ได้รับพัฒนาการมาจาก “Table Cut” มักพบได้จากการเจียระไนเพชรในยุคสมัยแรกๆ จะมีการตัดมุมเพชรทั้งสี่ด้านออก และมีเพียงแค่ 8 เหลี่ยมเท่านั้น

  • Point Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงเหลี่ยมเจียระไน 8 เหลี่ยม เป็นรูปแบบที่ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 เป็นการเจียระไนตามรูปผลึกของเพชร โดยทำให้สูญเสียเนื้อเพชรน้อยที่สุด 

  • Rose Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงเหลี่ยมกุหลาบ ได้ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1520 เป็นการเจียระไนให้ใต้ฐานมีลักษณะกลมแบน คล้ายกับแบบหลังเบี้ย แต่จะเจียระไนด้านบนให้ทำมุมกันเป็นรูปสามเหลี่ยม

  • Step Cut การเจียระไนเพชรรูปทรงเหลี่ยมขั้นบันได มีลักษณะชั้นๆ ขนาดลดหลั่นกันไป เหมือนกับขั้นบันได รูปแบบนี้ไม่เน้นให้เห็นความประกายระยิบระยับของเพชร แต่เน้นให้เห็นถึงสีสัน และความใสของเพชรมากกว่า

  • Table Cut รูปแบบการเจียระไนเหลี่ยมโบราณ ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 14 ได้พัฒนามาจาก Point Cut โดยนำเพชรมาตัดมุมบนในแนวตรง ทำให้เกิดความระนาบบนพื้นผิวของหน้าเพชร

  • Mixed Cut การเจียระไนเพชรรูปแบบนี้ เป็นการเจียระไนผสมผสานระหว่างรูปทรงเหลี่ยมเกสร (Brilliant Cut) ซึ่งอยู่ด้านบนของเพชร และด้านล่างเป็นรูปทรงเหลี่ยมขั้นบันได (Step Cut) 

คุณสมบัติที่ดีของการเจียระไนเพชร

คุณสมบัติที่ดีของการเจียระไนเพชร

การเจียระไนเพชรที่ได้เกรดสูงสุด เรียกว่า “IDEAL CUT” และมักมีปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดขึ้นกับเพชร เรียกว่า Heart & Arrow กล่าวคือ ตัวเพชรจะสะท้อนแสงเปล่งประกายออกมาได้ระยิบระยับ โดยการเจียระไนเหลี่ยมเพชรให้มีความสวยงาม และมีคุณภาพมากที่สุด สามารถประเมินได้จากคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้

สัดส่วนของเพชร (Cut Grade)

การเจียระไนเพชรที่ดี ทุกๆ สัดส่วนของเพชรต้องมีความเหมาะสม โดยสัดส่วนของหน้าเพชรไม่ควรมีหน้ากว้าง หรือแคบจนเกินไป ความสูงของเพชร ต้องไม่ลึก หรือตื้นจนเกินไป ส่วนขอบเพชร (Girdle) ต้องไม่หนา และไม่บางจนเกินไป เมื่อเจียระไนเพชรให้ได้ตามสัดส่วนที่สมบูรณ์แบบแล้ว ก็จะทำให้ได้เพชรที่มีลักษณะ ดังนี้

  • ประกาย (Brilliance) ความสว่างจากแสงสีขาวที่สะท้อนเจิดจ้าออกมาจากพื้นผิวภายใน และภายนอกของตัวเพชร

  • ความแวววาว (Sparkle) ความแวววาวอันน่าทึ่ง ที่เกิดจากการสะท้อนกันไปมาของแสงภายในตัวเพชร และพุ่งออกมาขณะที่เพชรเคลื่อนที่

  • ไฟ (Fire) แสงไฟที่เกิดจากการบิดตัวของแสงภายในเพชร โดยมีลักษณะให้เห็นเป็น “สีรุ้ง”

  • ความสมมาตรของแสง (Light Symmetry) คือ การกระจายตัวของแสงทั่วทั้งเพชรจากการเจียระไน โดยมีลักษณะให้เห็นเป็นรูปหัวใจ หรือรูปลูกศร

 

การเจียระไนเพชรให้มีความสมบูรณ์ ต้องมีการพิจารณาสัดส่วนของเพชรให้เหมาะสม ดังนี้

Table

Table คือ ส่วนหน้าของเพชร ซึ่งเป็นหน้าเจียระไนที่มีความใหญ่มากที่สุด เป็นส่วนที่ทำให้มองเห็นภายในเนื้อเพชร โดยเปอร์เซ็นต์ในการเจียระไนเพชรในส่วนของหน้า Table ที่ดีที่สุดสำหรับเพชรกลม (Round Brilliant Cut) ควรอยู่ในระหว่างช่วง 55% ถึง 65%

Crown

การเจียระไนเพชรส่วนของหน้า Crown ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ตื้นจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อความสวยงาม และความคงทนของเพชรได้ อย่างเพชรทรงกลม (Round Brilliant Cut) ที่มีน้ำหนักมาก มักมีหน้า Table ขนาดเล็ก และหน้า Crown มีความสูง ทำให้เพชรมีน้ำหนักมาก และมีความทนทานสูง

Girdle

การเจียระไนเพชรส่วนของ Girdle ต้องมีความพอดี ไม่หนา หรือไม่บางจนเกินไป เนื่องจากเพชรที่ Girdle มีความหนาจนเกินไป จะทำให้เกิดภาพสะท้อนเป็นสีเทาภายในเพชร และหาก Girdle ของเพชรมีความบางจนเกินไป ก็อาจส่งผลต่อความคงทนของเพชรได้  

Pavillion

การเจียระไนเพชรส่วนของ Pavilion เป็นส่วนที่ทำให้แสงที่ผ่านเข้ามาจากด้านบน และสะท้อนกลับไปยังส่วนของหน้า Crown จนเกิดเป็นประกาย (Brilliance) โดยขนาดของ Pavilion แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

  • Pavilion Angle คือ มุมระหว่าง Pavilion หลัก จนถึงระนาบของ Girdle ต้องมีความชันไม่มาก ถ้ามุม Pavilion มีความชันมากจะทำให้การสะท้อนแสงได้ไม่ค่อยไม่ดี 

  • Pavilion Depth คือ ระยะห่างจากระนาบส่วน Girdle ไปยังส่วน Culet ต้องมีความพอดี ถ้ามีความตื้น หรือมีความลึกเกินไป แสงที่กระทบจะทะลุผ่านออกไปทางด้านล่างของตัวเพชร ทำให้แสงไม่สะท้อนกลับมาด้าน Crown หากลึกตั้งแต่ 50% ขึ้นไป อาจทำให้หน้า Table ทั้งหน้าดูมืดไปหมด และหากเพชรมีความตื้นเกินไป หรือต่ำกว่า 38% ก็จะทำให้เกิดการสะท้อนของ Girdle ในส่วนของหน้า Table จนมีลักษณะเหมือนตาปลา (Fisheye)

Culet

Culet คือ ส่วนที่อยู่ก้นเพชร หรือส่วนที่อยู่ล่างสุดของเพชร เกิดจากการเจียระไนเพชรในบริเวณหน้าของ Pavilion Main จนมาบรรจบกัน ซึ่งจุดประสงค์ของการมี Culet คือมีไว้เพื่อป้องกันรอยขีดข่วน และการบิ่น หากส่วนของ Culet มีความใหญ่เกินไป เมื่อมองจากหน้า Table อาจทำให้เห็นเป็นจุดสีดำ

การขัดเงา (Polish)

การขัดเงาเพชรให้สมบูรณ์แบบต้องทำให้ผิวของเพชรมีความเรียบเนียน สม่ำเสมอกัน และไม่ทิ้งร่องรอยการเจียระไนเพชรไว้ (Polish Lines) ทำให้แสงตกกระทบลงบนเพชรได้ดี และทำให้เพชรมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น 

 

แม้ว่าเพชรเป็นอัญมณีที่มีความแข็งมากที่สุด แต่การเจียระไนเพชรสามารถเจียระไนได้ดีกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ แต่ต้องอาศัยความประณีต และความละเอียดสูงเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดตำหนิบนผิวของเพชรได้ เช่น Polish Line เป็นร่องรอยที่เหลืออยู่จากการเจียระไน หรือ Polish Mark ที่เกิดจากการเจียระไนที่ใช้ความเร็วมากเกินไป จนทำให้หน้าที่ถูกเจียระไนไหม้  

ความสมมาตร (Symmetry)

การเจียระไนเพชรให้มีความสมมาตร และสมบูรณ์แบบทุกสัดส่วน รวมถึงเหลี่ยมบนเพชรต้องเท่ากัน และเมื่อมองจากมุมต่างๆ ของเพชรที่มีความสมมาตร แสงที่ตกกระทบต้องสะท้อนประกายระยิบระยับได้อย่างสวยงาม

เพชรแบบใดถึงจะเรียกว่า “3EX”

เพชรแบบใดถึงจะเรียกว่า “3EX”

การเจียระไนเพชร ตามคุณสมบัติที่ได้กล่าวไปข้างต้น ได้แก่ Cut Grade, Polish Grade, และ Symmetry ได้เกรดที่ยอดเยี่ยม (Excellent) ทั้งหมด ก็จะได้เรียกว่าเป็น “Triple Excellent” หรือ “เพชร 3EX” ซึ่งถือเป็นเกรดสูงสุดตามมาตรฐานใบเซอร์ ซึ่งเพชรที่มีลักษณะการสะท้อนออกมาเป็นประกายอย่างสวยงาม และโดดเด่น สะดุดตา โดยเรียกการเจียระไนเพชรที่ได้เกรดสูงสุดนี้ว่า “Ideal Cut” แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงสีของเพชร (Color) ที่อาจมีสีเหลืองจนเกินไป หรือ ความสะอาดของเพชร (Clarity) ที่มีความมัวหมองจนมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า 

 

การเจียระไนเพชร คือ การทำให้เพชรเกิดเป็นรูปทรงที่มีเหลี่ยมมุมหลากหลาย จนเพชรมีเอกลักษณ์ และมีความแวววาวโดดเด่นเมื่อกระทบกับแสง ซึ่งรูปทรงของเพชรที่ได้ความนิยมโดยทั่วไป คือ แบบ Brilliant Cut โดยคุณสมบัติที่ดีของการเจียระไนเพชรต้องคำนึงถึงสัดส่วนของเพชร (Cut Grade) การขัดเงา (Polish) และความสมมาตร (Symmetry) เพื่อให้ได้เพชรในเกรด Excellent หรือ “เพชร 3Ex” 


การเจียระไนเพชรมีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้เพชรมีความสวยงาม และมีเหลี่ยมที่ทำให้เกิดการหักเหและการสะท้อนของแสงที่ส่องออกมา จนทำให้เพชรส่องประกายให้ได้มากที่สุด สำหรับใครที่กำลังมองหาแหวนเพชรที่คู่ควร มีความเปล่งประกายที่เหนือระดับ AURORA Diamond  ขอแนะนำ แหวนเพชรเม็ดเดี่ยว LEVA Collection วัสดุตัวเรือน ทองคำแท้ 18K พร้อมกับเพชรที่ผ่านการเจียระไนรูปแบบ Brilliant Cut อย่างพิถีพิถัน ทำให้เพชรมีความเปล่งประกายระยิบระยับโดดเด่น สวยสะดุดตาเมื่อกระทบกับแสงไฟ หากใครสนใจเพชรแท้คุณภาพ มีใบรับประกันคุณภาพให้เลือกมากมาย AURORA Diamond พร้อมให้คำแนะนำ และบริการหลังการขาย ทุกคนสามารถเลือกใช้บริการได้ง่ายๆ ตามสาขาใกล้บ้าน

tags

Facebook Messenger
Line